เพลงชาติไทย
เพลงชาติไทย
ประเทศไทยรวมเลือดเนื้อชาติเชื้อไทย
เป็นประชารัฐไผทของไทยทุกส่วน
อยู่ดำรงคงไว้ได้ทั้งมวล
ด้วยไทยล้วนหมายรักสามัคคี
ไทยนี้รักสงบแต่ถึงรบไม่ขลาด
เอกราชจะไม่ให้ใครข่มขี่
สละเลือดทุกหยาดเป็นชาติพลี
เถลิงประเทศชาติไทยทวีมีชัยชโย
ความหมายของเนื้อร้องเพลงชาติไทย
ท่านผู้หญิงสมโรจน์ สวัสดิกุล ณ อยุธยา
ประเทศไทยเป็นถิ่นที่รวมชนผู้มีเลือดเนื้อชาติไทย ไว้ให้ได้อยู่อาศัยร่วมกัน แผ่นดินทุกส่วนของประเทศไทย
ย่อมเป็นของชาวไทยทุกคน ประชาชนรักษาแผ่นดินไทยทั้งหมดไว้ได้ ก็ด้วยทุกคนมีน้ำใจสามัคคี รักคนไทยด้วยกันและรักประเทศชาติ คนไทยรักที่จะอยู่อย่างสงบแต่ถ้าจำเป็นต้องรบกับศัตรูแล้วคนไทยไม่เคยขลาดกลัวเลยไม่มีวันให้ศัตรูหน้าไหนมาข่มขู่ทำลายความเป็นอิสระของชาติไทยเราได้ ทุกคนยอมสละเลือด ทุกหยดเพื่อชาติไทยอยู่ยั่งยืน จะปกป้องคุ้มครองประเทศไทยให้เจริญรุ่งเรืองยิ่งๆ ขึ้นไปและให้มีชัยชนะตลอดไป
พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติธงขึ้น เรียกว่า “พระราชบัญญัติธง พุทธศักราช ๒๔๖๐” ออกประกาศเมื่อวันที่ ๒๘ กันยายน พ.ศ.๒๔๖๐ มีผลบังคับภายหลังออกประกาศในหนังสือราชกิจจานุเบกษาแล้ว ๓๐ วัน ลักษณะของธงชาติมีดังนี้
“ธงชาติเป็นรูปสี่เหลี่ยมรี ขนาดกว้าง ๑ ส่วน มีแถบสีน้ำเงินแก่ กว้าง ๑ ใน ๓ ของความกว้างของธง อยู่กลาง มีแถบสีขาวกว้าง ๑ ใน ๖ ของความกว้างของธงข้างละแถบ แล้วมีแถบแดงกว้างเท่าแถบขาว ประกอบข้างนอกอีกข้างละแถบ” และพระราชทานนามว่า “ธงไตรรงค์” และพระราชทานนิพนธ์ ความหมายของธงไตรรงค์ไว้ดังนี้
ขอร่ำรำพรรณบรรยายความคิดเครื่องหมาย แห่งสีทั้งสามรวมถนัด
ขาว คือ บริสุทธิ์ศรีสวัสดิ์ หมายพระไตรรัตน์ และธรรมะคุ้มจิตไทย
แดง คือโลหิตเราไซร้ ซึ่งยอมสละได้ เพื่อรักษาชาติ ศาสนา
น้ำเงิน คือสีโสภาอันจอมประชา ธ โปรดเป็นของส่วนองค์
จัดริ้วเข้าเป็นไตรรงค์ จึงเป็นสีธง ที่รักแห่งเราชาวไทย
ต่อมาสมัยรัชกาลพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล ได้ตราพระราชบัญญัติธง เป็นพระราชบัญญัติแรกในรัชกาล เมื่อ พ.ศ.๒๔๘๙ ธงไตรรงค์ยังคงใช้เป็นธงชาติ แต่อธิบายลักษณะให้เข้าใจมากขึ้นคือ “ธงไตรรงค์” มีลักษณะเป็นรูปสี่เหลี่ยม มีขนาดกว้าง 6 ส่วน ยาว 9 ส่วน ด้านกว้าง 2 ใน 6 ส่วนตรงกลางเป็นสีขาบ (น้ำเงินเข้ม) ต่อจากสีขาบออกไปทั้งสองข้าง ข้างละ 1 ใน 6 ส่วน เป็นแถบสีขาว ต่อสีขาวออกไปทั้งสองข้าง เป็นแถบสีแดง